โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทเปิดให้บริการมากว่า 40 ปี โดยหนึ่งในวิสัยทัศน์คือการมุ่งเน้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ โดยแนวคิดเกิดจากอดีตประธานกรรมการบริหาร คุณพูลชัย ชเนศร์ ที่มองเห็นว่าการดูแล รักษาพยาบาลผู้สูงอายุนั้นความแตกต่างจากวัยอื่นๆ อีกทั้งรูปแบบการให้บริการก็ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และการใส่ใจดูแลมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยอื่นๆ
ในปี 2535 จึงได้มีการเปิดสถานพยาบาลสำหรับการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ โดยมีรูปแบบบริการที่ครบวงจร ได้แก่ บริการการรักษาพยาบาล ( Treatment unit and Complex Continuing care ) , บริการพักฟื้นก่อน-หลังผ่าตัด ( Transition Care ), การดูแลระยะยาว (Long term stay Program), การดูแลระยะสั้น (Short-term Stay Program), การดูแลแบบรายวัน (Day care Program), บ้านพักผู้สูงอายุ (Assisted Living service) และ การฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด และ กิจกรรมบำบัด (Rehabilitation Center) โดยเฉพาะในส่วนของงานการฟื้นฟู หนึ่งในวิชาชีพที่มีความสำคัญอีกวิชาชีพหนึ่งคือ กิจกรรมบำบัด
แต่เดิมที่กล้วยน้ำไทนั้น งานกิจกรรมบำบัดยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก อีกทั้งแนวทางการจัดกิจกรรม การฟื้นฟู เป็นกิจกรรมที่ยังไม่ได้ใช้แนวทางกิจกรรมบำบัดอย่างเต็มที่ เป็นกิจกรรมที่ยังไม่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน
ผู้บริหาร และทีมที่ให้การดูแลรักษาได้เล็งเห็นถึงแนวทางและความจำเป็นในการใช้หลักการทางกิจกรรมบำบัดมาเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟู จึงกำหนดให้ นักกิจกรรมบำบัดเป็นส่วนหนึ่งของทีมสหวิชาชีพ ที่จะวางแผนการรักษาร่วมกันกับวิชาชีพต่างๆ และบุคคลากร จะต้องเป็นนักกิจกรรมบำบัด ที่สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขากิจกรรมบำบัด
โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่รับการฟื้นฟู ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และ กลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม สำหรับโปรแกรมการฟื้นฟู จะมีการวางแผนตามลักษณะกลุ่มอาการของโรค เช่น Hand function ,Perception Cognition หรือ ADL แต่สิ่งที่ต่างจากการฟื้นฟู กับกลุ่มอายุช่วงอื่นคือ สื่อที่ใช้ในการฟื้นฟู แนวทางที่เป็นลักษณะเฉพาะแต่ละบุคคล วิเคราะห์ และออกแบบให้เข้ากับประสบการณ์ชีวิตในอดีต สิ่งเหล่านี้เป็นเกร็ดข้อมูลของผู้สูงอายุ ที่ทีมมักจะมองข้ามไป ดังนั้นแนวทางในการฟื้นฟูผู้สูงอายุ จึงไม่มีแนวทางที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละบุคคล
นอกจากวิธีการรักษาฟื้นฟูที่จำเพาะเจาะจงในผู้สูงอายุแล้ว สิ่งที่จะมองข้ามไม่ได้คือการ first impression approach การเรียกผู้สูงอายุ หรือการใช้สรรพนาม ดูเหมือนจะเป็นสิ่งไม่สำคัญ แต่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก เรามักจะเรียกแทนชื่อด้วยคำว่า คนไข้ คุณตา คุณยาย แต่ความจริงแล้วผู้สูงอายุมักจะรู้สึกดี หรือรู้สึกถึงการได้รับการยอมรับเวลาที่เราทักท่าน …ผู้พันสำราญ ,ผอ.ไพรัตน์ , ศาสตราจารย์ มาลินี หรือชื่อใดก็ตามที่ท่านเคยเป็น และอยากให้เรียก รวมไปถึงกิจกรรมที่ทำ บ่อยครั้งเราไม่สามารถเอากิจกรรมทำดอกไม้ เย็บผ้า หรือบิงโก มาเป็นกิจกรรมแม่แบบกับทุกคนทุกกลุ่มได้ (อดีต)ดอกเตอร์ท่านนี้อาจจะชอบหมากรุก, อดีต ผอ.อาจจะชอบปลูกกล้วยไม้ หรือเลี้ยงกระต่าย
ข้อมูลเหล่านี้ี่นักกิจกรรมบำบัด จะได้จากการประชุมทีมสหวิชาชีพ โดยการประชุมนี้ญาติ และผู้สูงอายุจะเป็นส่วนสำคัญในการให้ข้อมูลวางแผนการรักษา ทั้งนี้เพื่อให้การดูแลรักษาฟื้นฟู มีการวางแผนที่คลอบคลุมองค์รวมอย่างแท้จริง
กิจกรรมบำบัดในผู้สูงอายุนั้น นอกจากนักกิจกรรมบำบัดจะต้องวิเคราะห์ วางแผนการรักษาตามกลุ่มโรคที่ผู้สูงอายุเป็น จะต้องรู้และเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุ วิเคราะห์จากพื้นฐานประสบการณ์ และสิ่งที่ตอบสนองต่อความรู้สึก ความภาคภูมิใจของผู้สูงอายุ บ่อยครั้งการฟื้นฟูอาจต้องมีการคิดต่าง คิดนอกกรอบ การลองผิดลองถูก เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟูผู้สูงอายุแต่ละท่าน
ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ทำให้ผู้สูงอายุมี lifestyle ที่เปลี่ยนไป ความต้องการที่เปลี่ยนไป นักกิจกรรมบำบัด และผู้ให้บริการสุขภาพจำต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนั้น แต่ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน สิ่งที่ผู้ให้บริการสุขภาพจะต้องคำนึง และสิ่งนี้จะไม่มีวันล้าสมัย คือการตระหนักถึงเป้าหมายการดูแลรักษาที่สำคัญที่สุดคือ การคำนึงถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้รับบริการ :Quality Of Life
อ้างอิงจากหนังสือครบรอบ 35 ปี กิจกรรมบำบัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น